ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ถาม-ตอบปัญหาธรรม
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
เริ่มหัวข้อใหม่ใน "ถาม-ตอบปัญหาธรรม"
ชื่อ:
หัวข้อ:
ลักษณะเพิ่มเติม:
B I U S Sub Sup ขนาด สี Spoiler Hide ul ol li left center right Quote Code Img URL Ebay   video
ข้อความ:
(+) / (-)

รูปแบบแสดงอารมย์
B) :( :) :laugh:
:cheer: ;) :P :angry:
:unsure: :ohmy: :huh: :dry:
:lol: :silly: :blink: :blush:
:kiss: :woohoo: :side: :S
รูปแสองอารมย์เพิ่มเติม
 ใส่รหัสที่นี่   

สรุปหัวข้อ: กราบเรียนถาม วิธีการเดินจงกรมที่ถูกต้อง
รูปแบบ. การจัดเรียงข้อความ 6 posts - (ข้อความล่าสุดอยู่ข้างบน)
โดย ข้อความ
หลวงตากิตติญาโณ
เดินจงกรม พิจารณาธรรม และ เซิร์ช(search)จิต

คำว่าเซิร์ชจิต เขียนถูกหรือผิดอย่างไรก็ต้องขออภัย เป็นการเขียนทับศัพท์ต่างประเทศ จะใช้คำว่าสำรวจ มันก็ดูจะไม่ค่อยตรง จะใช้คำว่าค้นหา ก็ไม่น่าใช่ จึงใช้คำทับศัพท์แต่เขียนเป็นไทยโดยอาศัยตัวอักษรภาษาต่างชาติมาช่วยในการสะกด

จำได้ว่า สมัยที่เดินบิณฑบาตร ในสถานที่ไกลๆ มีระยะเดินยาวๆ ก่อนจะถึงหมู่บ้าน หลวงตาก็จะใช้วิธีนี้ฝึกสอนตัวเอง คือเดินแบบละเอียดในเนินทั้งห้า แล้วก็จับอารมณ์ปรารถนาในจิต ให้เป็นปัจจุบัน จิตปรารถนาอย่างไร ก็ดำเนินไปอย่างนั้น จิตปรารถนาจะพิจารณาธรรม ก็นำธรรมที่จิตปรารถนามาพิจารณา ปล่อยให้จิตพิจารณาไปตามปรารถนาโดยไม่ขัด แล้วเราก็รู้ตามไปเรื่อยๆ ความรู้ต่างๆ ก็ปรากฎได้ไม่ยาก ที่สงสัยก็คลาย เมื่อรับรู้แล้ว ก็นำกลับมาทบทวน สอนตนเองอีกครั้ง สองครั้ง สามครั้ง ตามแต่จะมีระยะทางเดิน กระทำอย่างนี้ ก็เกิดความปีติเข้าใจในธรรมต่างๆ ได้กระจ่างแจ้งขึ้นเป็นลำดับ

ครั้นเมื่อบิณฑบาตรได้อาหารแล้ว มากมายเกินความต้องการ ก็พิจารณาว่าจะทำอย่างไร กับอาหารจำนวนมากมายเหล่านั้น พิจารณาไป สัมผัสทั้งห้าก็รับรู้อารมณ์ ตั้งแต่บรรดาหมู่ญาติที่ถวายอาหารใส่ลงในบาตร อากัปกิริยา ท่าทาง เสียงกล่าว ภาพอาหาร กลิ่น อาหาร อายตนะทั้งหลายที่ทำงานร่วมกันเป็นขบวนการ กำลังดำเนินไปเพื่อที่จะก่อกิเลสให้เจริญเป็นหมู่มารที่จ้องทำลายผลาญตบะ ทำให้เกิดความคิดที่จะกำจัดมันออก จึงได้วิ่งไล่อารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในช่องทางทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเกิดที่ไหน ก็ดับมันที่นั่น ไม่ให้มันเข้าสู่จิต เกิดเป็นความรู้ เป็นวิชชา ในการเดินบิณฑบาตร

ได้ทั้งการเดินจงกรมแบบละเอียด ได้ทั้งการพิจารณาธรรม และได้การไล่สกัดอารมณ์อันเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสับสน กระทำอย่างนี้นานวันเข้า ก็เกิดเป็นความชำนาญ ได้เห็นอารมณ์ที่สงบ ไม่สนุก ก็เลยไปก่อกวนมันให้วิ่งเล่น แล้วเราก็ไล่จับมัน ที่สุดก็จับมันมาเรียงแถว แล้วสอนสั่งมันให้เป็นระเบียบ เป็นแถวไม่สับสน ไล่ตั้งแต่ กายที่ย่ำไป สัมผัสต่างๆ ที่กระทบ ตาที่เห็นภาพ จมูกที่ได้กลิ่น หูที่ได้ยินเสียง ลิ้นที่เกิดรสขึ้น แล้วก็ห้ามไม่ให้มันเข้าสู่จิต

กระทำเช่นนี้นานนับเป็นปี หลายปี จึงเข้าใจเรื่อง กาย จิต ธรรม อันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เผลอสติเมื่อไร ก็เป็นอันว่าโดนเสียบทันที มันพุ่งตรงเข้าสู่จิตทันที ชักนำให้เกิดกรรมที่ต้องชำระอย่างต่อเนื่อง ที่สุดก็เข้าใจเรื่อง ตัณหาร้อยแปดได้อย่างกระจ่าง อายตนะสิบสอง กรรมสาม กาลสาม ถ้าไม่กระจ่าง ก็อย่าหวังที่จะเดินทางสายตรงได้อย่างปลอดภัย

บุญรักษา
หลวงตากิตติญาโณ
จำได้ว่า เรื่องการเดินจงกรมนี้ หลวงตาได้เคยสอนแบบละเอียดพิเศษสำหรับผู้ใฝ่ฝึกฝนอย่างจริงจังเพื่อเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่แน่ใจว่า ผู้ใช้นามแฝงว่า "คนจรที่จากไป" จะแนะนำได้หรือไม่ว่า "ละเอียดในเนินทั้งห้า ฯลฯ" นั้น เป็นการวางเท้าอย่างไร เรื่องนี้หลวงตาสอนไว้แล้วละ สำหรับศิษย์ที่ปรารถนาการฝึกแบบนั้น

ถ้าจะขยายความให้ผู้ใฝ่ศึกษาที่เข้ามาแวะเยี่ยมเยือน เว็บวัดป่าสุธัมมารามแห่งนี้ได้รับรู้ ก็ช่วยสงเคราะห์หน่อยนะ อธิบายวิธีการวางเท้าเพื่อให้ "ละเอียดในเนินทั้งห้า ฯ" ให้ได้ศึกษากัน หรือ ผู้อื่นที่เคยศึกษามา หรือที่เคยศึกษาจากหลวงตา ก็ได้ ช่วยแนะนำหน่อย สำหรับหลวงตาแล้ว จะสอนให้เป็นเฉพาะราย ที่มองว่าน่าจะได้ลองฝึกดู จึงไม่ขอขยายความในที่นี้ เพราะเหตุว่าจะต้องอธิบายให้ทั้งทางกายภาพ และทางสภาวะจิต สภาวะธรรม ผลที่จะได้รับ ผลดี ผลเสีย การวางจิต เพื่อป้องกันการเสียจริตในภายหลัง เพราะหลายคนที่รับรู้ไปแล้ว ไม่ยอมรับที่จะเข้าใจถึงความละเอียดในเรื่องเหล่านี้ ต้องเสียจริตไปหลายคน

บุญรักษา
หลวงตา
มีคนพยายามมากในการที่จะตอบโต้เรื่องธรรมมะ แต่ธรรมะนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ พระพุทธองค์ผู้ทรงตรัสรู้ ไม่ได้บอกว่าพระองค์เป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆ การตรัสรู้นั้น เป็นเพียงการเข้าไปเห็นในสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปรู้ได้

พระองค์จึงนำสิ่งที่ตรัสรู้ คือเข้าไปล่วงรู้ได้ด้วยความเพียรอย่างยิ่งในทุกรูปแบบจวบจน "มรรคสมังคี" คือมีความพร้อมในทุกทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจ สติ และอารมณ์ ถ้าได้อ่านประวัติของพระองค์ที่มีการนำเผยแพร่กันมานานนับได้ไม่น้อยกว่า สองพันห้าร้อยปี และรู้จักสังเกตุ ไม่งมงาย เป็นนักคิด เป็นนักวิเคราะห์ ก็จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นของคำสอน อันรวมถึงประว้ติต่างๆ ล้วนเป็น "วิทยา" คือเป็นหลักวิทยาศาสตร์ล้วนๆ หลักวิทยาศาสตร์มีกฎง่ายๆ เฝ้าดู วิเคราะห์ ติดตามผล ซึ่งผู้ที่ไม่งมงาย สามารถทำตามได้อย่างแท้จริง งมงายในที่นี้มีทั้งสองทาง คือสุดโต่งไปทางหลงเชื่อเสียจนไม่รับรู้อะไรที่เป็นเรื่องที่เป็นจริง และสุดโต่งไปทางไม่เชื่อเสียจนไม่รับรู้อะไรที่เป็นเรื่องเป็นจริง

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีความคิดเห็นแบบนักวิทยาศาสตร์ คือมีความคิดที่เปิดกว้าง มีสติ เป็นตัวของตัวเอง ไม่งมงาย ไม่ปิดกั้น เดินสายกลาง ยอมรับในสิ่งต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ ทดลอง แล้วติดตามผล ก็จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จได้

ที่ยกตัวอย่างพุทธประวัตินั้น เป็นจุดที่ทำให้เราเข้าใจอะไรอะไรได้มากทีเดียว เริ่มแต่ได้เดินทางออกจากหมู่พวกพ้องที่เฝ้าติดตาม คือกลุ่มผู้คงแก่เรียนทั้งห้า ได้ใช้ความคิดทบทวนด้วยตัวของตัวเอง ได้ทดลองทำในสิ่งต่างๆ ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่าๆ ที่สุดก็ได้นั่งพักในที่อันรื่นรมณ์ เป็นร่มไม้ใหญ่ อยู่ใกล้น้ำ พักไปวิเคราะห์ไป ทั้งหลับตาและไม่หลับตา อารมณ์ก็แจ่มใส ลืมตามาก็มีคนเอาข้าวมาให้กิน ที่ยิ่งกว่านั้น ยังเล่าเรื่องประสพการณ์ที่ดีๆ อันเกี่ยวกับใต้ร่มไม้แห่งนั้น ผู้ที่มานั้นก็แสนจะสุภาพอ่อนน้อม มีความเคารพศรัทธา กล่าวแต่มธุรสวาจา กล่าวให้กำลังใจ และมีความเชื่อมั่นในผู้รับฟัง ทุกสิ่งล้วนเป็นกำลังทั้งสิ้น เมื่อกินอิ่มด้วยอาหารอันเลิศถึงสี่สิบเก้าคำ (ลองสมมุติว่าเป็นข้าวอันเลิศรสแบบโบราณของชนเผ่าที่อยู่ในชมพูทวีป ซึ่งมีทั้งข้าว เครื่องปรุงรสอันโอชะ ประกอบด้วยนมและผักที่ปรุงเข้ากันอย่างเลิศ) สี่สิบเก้าคำ ถ้าเป็นปัจจุบัน ก็ประมาณว่า สี่สิบเก้าช้อน น่าจะอิ่มแป้แล้นะ

หลังจากอิ่มอาหารแล้ว เดินคิดอะไรเพลินๆ ก็สรุปว่าต้องไปอาบน้ำ โกนหนวดเครา จัดการผมเผ้าที่รุงรัง ซักผ้าที่ส่งกลิ่นอันไม่น่ารื่นรมณ์ ที่รู้ว่าไม่นารื่นรมณ์ ก็เพราะว่าก่อนหน้านั้นไม่ได้สนใจใส่ใจเพราะอารมณ์มันหมกมุ่นจึงชินชา ต่อเมื่ออารมณ์ดี ความชินชาก็เปลี่ยนมาสู่ความเป็นปกติ จึงรับรู้ถึงสิ่งรอบข้างได้มากขึ้น ความเป็นจริงก็ปรากฎ เมื่อยอมรับความเป็นจริง ก็มองเห็นข้อบกพร่องทั้งหลายแหล่ จัดการแก้ไขไปตามสภาพ ไม่ต้องปรุงแต่ง แล้วก็ตั้งมั่นพร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับตนเองด้วยการอธิฐานซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะขณะนั้นยังไม่ได้ตรัสรู้

เพราะมีความพร้อมในทุกด้านมาแล้ว เมื่อเปลี่ยนสภาพต่างๆ ของตนเองและสิ่งรอบกาย จิตก็พร้อม มรรคทั้งหลายก็สามัคคีเป็นพลัง ด้วยเหตุแห่งจิตที่ไม่หมกมุ่นไม่ยึดมั่น ตั้งเอาไว้แล้วว่า ตายเป็นตาย ถ้าไม่ได้ก็ไม่ลุกขึ้นจากที่นี้ ความห่วง ความอาลัย และที่สำคัญความยึดทั้งหลายที่ขาดสบั่นไป จิตที่เคยมีนิวรณ์ฉุดรั้งก็คลายออก ปล่อยให้เป็นไปตามกำลังของธรรมชาติที่มีในตัว ความสำเร็จก็เกิดขึ้น ด้วยเพราะ

"จิตเป็นพลังงานรูปหนึ่ง มีอำนาจ สร้างรูปได้ ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำ"
คนจรที่จากไป
ในสมัยพุทธการ เมื่อมีภิกษุผู้สนใจใฝ่จะเรียนรู้ เดินทางเข้าไปในหมู่พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นหัวหน้า

พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ดูว่า นั่นเหล่าภิกษุผู้ใฝ่รู้ก็ไปเข้าหมู่กับท่านพระสารีบุตร ผู้ใส่ใจการฝึกฝนด้านฤทธิ์ก็จะไปฝึกกับท่านพระโมคคัลลาน ผู้ใส่ใจใน........

ครั้งนั้นมีภิกษุผู้มีร่างกายค่อม ท่านไปเข้าหมู่กับท่านพระโมคคัลลาน ได้ทำการฝึกฝนตามอย่างท่านพระโมคคัลลาน หมู่ภิกษุทั้งหลายฝึกการเดินเร็วบ้างช้าบ้าง เป็นเวลานานผ่านไปครึ่งชั่วยามบ้างหนึ่งชั่วบามบ้าง โดยมิได้มีการหยุดพัก ภิกษุทั้งหลายขมักเขม่นในการฝึกฝนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย (หนึ่งวันมีหกยาม แบ่งเป็นภาคกลางวัน สามยาม ภาคกลางคืนสามยาม รวมยี่สิบสี่ชั่วโมง)

ท่านพระโมคคัลลานฝึกฝนการเดินในหมู่ภิกษุทั้งหลายเร็วบ้างช้าบ้างฝึกให้กำหนดรู้ในสัมผัสแห่งการเดินในทุกย่างก้าว ละเอียดในเนินทั้งห้าและฝ่าเท้า.........
หลวงตา
วันนี้ได้แวะมาอ่านข้อความในเว็บวัดป่าสุธัมมาราม มาอ่านคำตอบกระทู้เรื่องเดินจงกรมของ "ผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง" แล้วก็เห็นว่า ท่านผู้นี้ยึดติดกับรูปแบบอย่างยิ่ง การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องการให้ละ "ความยึด"

การแจงแบบเอาปัญญา ไม่เอารูปแบบ เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจ เข้าถึงระดับการปฏิบัติที่มาจากปัญญา ปัญญาของตัวเจ้าของ โดยไม่ต้องยึดรูปแบบ ทุกคนเดินเป็นอยู่แล้ว เราเริ่มฝึกหัดตั้งแต่ คลาน ตั้งไข่ หัดเดิน จนถึง วิ่งเล่น นี้เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปยึดรูปแบบที่ไม่เหมาะกับตัวเรา รู้จักพัฒนาด้วยตนเอง

ผู้มีปัญญาย่อมพ้นภัย หลวงตาจึงให้ "หลัก" ไม่ให้ “ วิธี ” ซึ่งวิธีนั้นเท่ากับเป็นการบีบบังคับและปิดช่องทางในการคิด วินิจฉัย การทิ้งรูปแบบ แล้วเอาความจริงและปัจจุบันในขณะปฏิบัติ เป็นแนวทางในการวินิจฉัยในระดับต่อไป

การเดินสามสิบนาที นั่งสามสิบนาที เป็นการบังคับให้ต้องละการเดินที่กำลังเกิดผล และบังคับให้นั่งในขณะที่จิตปรารถนาที่จะเดิน ที่สุดก็ไม่ได้อะไรในชีวิตนี้ นอกจากหลงและยึดติด การปล่อยวาง ดำเนินการปฏิบัติธรรมให้เป็นไปตามความเป็นจริง เป็นปัจจุบัน นี้เป็นหัวใจสำคัญยิ่ง ถ้าไม่มีหลัก ไม่เข้าใจในเป้าหมาย ก็เท่ากับเสียเปล่าไร้ผล ในเมื่อหวังที่จะปฏิบัติธรรม ก็รู้เพียงแค่ว่ากิจที่จะทำตรงหน้าคือการ "ปฏิบัติธรรม" ไม่ใช่หัดเดิน จะเดินอย่างไรก็ได้ เร็วช้าอย่างไรก็ได้ วิ่งก็ได้ นั่งก็ได้ หกคะเมนตีลังกา หรือทำท่าทางแปลกๆ อย่างไรก็ได้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ละลัทธิ แต่ละอาจารย์ ต่างก็มีวิธีการและรูปแบบตามที่ตนฝึกมา นั่งโยก นั่งยก ก็ฝึกจนเป็นอาจารย์สอนได้ เดินทอดน่องปล่อยอารมณ์ ชมนกชมไม้ ร้องเพลงเล่นดนตรี ก็มีสอนให้ได้เห็นแล้ว การเล่นกีฬาก็สามารถฝึกจนมีสมาธิ และเป็นเลิศได้ประสพความสำเร็จได้ การฝึกแบบโยคะ ก็ฝึกจนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกได้

ฉะนั้น เอาหลัก อย่าเอารูปแบบ นี้เป็นเป้าหมายสำคัญยิ่ง อย่างมงาย ฝึกตนเองให้มีสติอยู่กับกิจที่ทำ ย่อมนำสู่ความสำเร็จ ความเจริญไพบูลย์ในที่สุด ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง อย่าจินตนาการ ว่ามันเกิดดับ การจะรู้ว่า "เกิดดับ" เป็นอย่างไร ต้องอาศัยสมาธิระดับฌาน และเป็นการเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริง ไม่ใช่จินตนาการเอา หรือเอาคำสอนที่ผู้อื่นกล่าวไว้ มากล่าวซ้ำ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ความเจริญในธรรม ย่อมเสื่อมสิ้นไปในที่สุด เหลือเพียงแค่เขาเล่าว่า แล้วคำสอนของพระพุทธศาสดาจะดำรงคงอยู่ หรือเจริญยิ่งๆขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันความเสื่อมได้ครอบงำชาวพุทธในหลายๆ ประเทศแล้ว ขออย่าให้เป็นประเทศไทยเลย ฝึกฝนแบบบูรณาการ ก็คือการนำเอา "มรรคมีองค์แปด" มาใช้เป็นแนวทางในการฝึกฝน ไม่ใช่ฝึกฝนแบบตามๆกันไป ทั้งหมดอาจเหมาะและไม่เหมาะกับแต่ละตัวตน ฉะนั้น "บูรณาการ" คือการนำเอาคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา ในเรื่อง "มรรคมีองค์แปด"มาใช้ให้ถูกต้อง

จิตที่ยังไม่ได้ดุล ย่อมไม่สามารถวินิจฉัยธรรมให้เข้าถึงธรรม ย่อมวินิจฉัยไปตามกิเลสของเจ้าของ ลองอาศัยธรรมเก้าประการมาวิเคราะห์ ก็จะรู้จะเข้าใจอย่างถ่องแท้

สาธุ ขอบุญจงรักษาผู้บำเพ็ญบุญ เพื่อความเจริญในพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา

หลวงตา
แค่ผู้ปฏิบัติธรรม
ขอนอบน้อมแด่ธรรมจงมีแก่ท่าน

จากประสบการณ์ที่ได้ปฏิบัติธรรม ในส่วนของการเดินจงกรมนั้น พอมีแนวทางการปฏิบัติ อยู่ที่การใช้เท้าของผู้ปฏิบัติเดิน ทั้งข้างขวา และข้างซ้าย

เวลาก้าวย่าง เริ่มจากขวาก่อน ก็กำหนดว่า ขวา เวลาใช้เท้าซ้ายย่าง ก็กำหนดว่า ซ้าย ทำไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะกำหนดระยะทางในการเดิน เพื่อว่าจะได้เดินกลับไป และกลับมา ซัก 30 นาที

ในจุดเริ่มต้น ให้กำหนดให้ช้าที่สุด แล้วตามดูอาการของร่างกายของผู้ปฏิบัติว่า มีอะไรเกิดขึ้น หลายๆ ท่านจะรู้สึกว่า อยากเดินให้เร็วๆ นั้นเป็นเพราะจิตของเรามีความรวดเร็วมาก แต่ที่เราทำให้ช้า เพราะจะได้เห็นอาการต่างๆ ที่เรายังไม่เคยเห็น

ในขณะที่เดิน ถ้ากำหนดได้ดีไประยะหนึ่งแล้ว พอให้มี ขณิกสมาธิ เกิดขึ้นบ้างเล็กน้อยแล้ว และจิตของเราไม่วิ่งไปไหนแล้ว ก็ลองพัฒนาขึ้นไปอีกซักระดับหนึ่ง คือกำหนดว่า ยก ย่าง เหยียบ ดู ทุกขณะที่เรามีการเคลื่อนไหว เราก็ใช้สติตามดูอาการของร่างกายของเรา ว่าขณะนี้ เรายกเท้า หรือ ย่าง หรือเหยียบลงไป

เวลาเท้าของผู้ปฏิบัติ สัมผัสกับหญ้า (นั้นหมายถึงว่า ถอดรองเท้าเดิน) เราก็จะรู้ว่า ขณะนี้ เราสัมผัสกับหญ้า และเราก็จะเห็นอาการอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ อาการเกิดดับ เวลาเรายกเท้าขึ้น อาการเกิด ได้บังเกิดขึ้น เมือเราย่างเท้าออกไป กระบวนการยกเท้า ก็จะดับไป และมีการย่างเกิดขึ้นใหม่ เมื่อเราเหยียบไปที่หญ้า ขั้นตอนการย่าง ก็ดับไป มีการเหยียบเกิดขึ้น เมื่อกลับไปสู่ขึ้นตอนการยกขึ้น การยก เป็นการเกิด การเหยียบ ดับไปแล้ว ทำให้เราเห็นว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป เพียงเท่านี้ แม้แต่สิ่งที่อยู่ในอิริยาบทของเราเอง ก็มีแค่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไปเท่านั้น พอมาเปรียบเทียบกับร่างกายของเรา ก็จะมีแค่ เกิดขึ้น(การจุติมายังชาตินี้) ตั้งอยู่สักพักหนึ่ง แล้วก็ดับไป(จุติไปจากชาตินี้) เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรเลย

ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้ชัดในขณะที่เราเดินจงกรม และในขณะนั้น จิตของเราก็เข้าไปสัมผัสกับสมาธิ นั้นหมายถึงว่า โปราณาจารย์หลายท่านได้กล่าวว่า การเดินจงกรม เป็นวิธีปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับการนั่งสมาธิ เพราะในขณะที่เดินจงกรม ร่างกายของเราก็จะมีการเคลื่อนไหว แต่จิตของเราจดจ่ออยู่แค่อิริยาบทเดินเท่านั้น แต่ในขณะที่เรานั่งสมาธิ ร่างกายของเราหยุดนิ่ง แล้วกำหนดไป แต่จิตของเราก็จะกำหนดได้เป็นช่วงๆ แล้วจิตก็จะวิ่งออกไป เพื่อเอาความคิดทั้งในอดีต อนาคต มาให้เราได้เห็น เพราะความคิด เป็นอาหารของจิต และจิตต้องมีอะไรได้รับประทาน ก็เอาสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติในอดีต ทั้งที่หอมหวาน และทุกข์ระทม มาให้เราได้เห็นในขณะที่ร่างกายหยุดนิ่ง หรือสิ่งที่จะวางแผนที่จะทำในอนาคต ก็เอามาให้เห็น

ซึ่งการเดินจงกรม ควรทำควบคู่ไปกับการนั่งสมาธิ นั้นหมายความว่า เริ่มจากเดินจงกรม 30 นาที และไปนั่งสมาธิ 30 นาที ทำสลับไปมา จะเป็นการดีมาก

ในทุกอิริยาบทที่เดินจงกรม สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ สติ ต้องมีสติ กำกับอยู่ทุกขณะจิต ถึงต้องทำช้าๆ ถึงช้าที่สุด ในจุดเริ่มต้น เพื่อให้สติตามกำกับจิตให้อยู่ในปัจจุบัน คือขณะที่ก้าวย่าง ถึงแม้บางช่วงอาจจะขาดสติ ก็ไม่เป็นไร พอรู้ตัว ก็เอาสติมากำกับต่อไป ไม่ต้องเคร่งเครียดมาก พยายามทำให้ร่างกายรู้สึกสบายให้มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายในขณะที่เดินด้วย

แต่มีสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความพยายามและความมุ่งมัน ที่จะปฏิบัติ อย่าท้อ และอย่าถอย เพราะหนทาง และทางสายนี้ มีคนผ่านมาเยอะแล้ว ไม่ยากเกินความสามารถของผู้ปฏิบัติ แต่ก็ไม่ง่าย ที่สุดทางแล้วผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับนิรันตสุขอย่างแท้จริง

ขอเป็นกำลังใจ และขอธรรมะจงเกิดแด่ท่าน
ผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง